เลี้ยงปลาสลิดด้วยความรัก....ได้กลับเป็นเงินล้าน
"ปัญญา โตกทอง"เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิด ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เล่าเทคนิคการเลี้ยงปลาสลิดให้ได้เงินล้านซึ่งเป็นที่มาของการเลี้ยงปลาสลิดด้วยความรักแบบศึกษาวิจัยและเป็นเครื่องมือพัฒนาครบวงจรการเลี้ยง
เกษตรกรคนดังกล่าวถ่ายทอดประสบการณ์ที่น่าสนใจอีกต่อไปว่าการเลี้ยงปลาสลิดประจำวันทำให้เรามีข้อมูลทางด้านอาชีพ รวมทั้งการบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายประจำวันทำให้เรามีข้อมูลของครัวเรือนแล้วเอาข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์มาสังเคราะห์เป็นประจำ เพราะข้อมูลของเราที่ได้มาเป็นข้อเท็จจริงจะกลับมาบอกเรามาสอนตัวเรา ก็คือ เราได้เรียนรู้เรื่องของปลาสลิดและได้เรียนรู้เรื่องราวของตัวเราเอง คนส่วนใหญ่ชอบเรียนรู้เรื่องราวคนอื่นทำให้ไม่รู้จักตัวเองดีพอเป็นที่มาของคนที่ชอบหลอกตัวเอง และหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองเก่ง ชอบอวดดีแต่ไม่มีดีจะอวดสุดท้ายก็เป็นคนที่ทุกข์โง่จนเจ็บ
การเลี้ยงปลาสลิดด้วยงานวิจัย เป็นการใช้สมองใช้ปัญญานำหน้าการเลี้ยง ใช้เงินลงทุนตามหลัง เป็นการจัดการความรู้ทำให้เป็นคนที่ฉลาด รวย สุข และพอเพียงได้รู้จักประมาณตนเองได้ การจดบันทึกเหตุการณ์ การเลี้ยงปลาสลิดประจำวันทำให้เรามีข้อมูลการเลี้ยงปลาเป็นของตัวเองที่เป็นข้อเท็จจริงของเราเองทำให้เกิดความรู้ ความท้าทาย และความสามารถของตัวเราคนเราจะประสบความสำเร็จได้จะต้องเป็นคนที่มีโอกาสและมีความสามารถ การมีข้อมูลที่เป็นของตัวเองจะทำให้เราเป็นคนที่เห็นโอกาสและเพิ่มความสามารถของตัวเองทำให้เราตื่นตัวอยู่เสมอ ทำให้เกิดการคิดและการคำนวณเป็น สามารถพยากรณ์การเลี้ยงปลาสลิดได้แม่นยำ ทำให้เราเป็นคนที่รู้ปัจจุบันและรู้อนาคตของการเลี้ยงปลาสลิดได้เริ่มตั้งแต่การวางแผนการจัดการการเลี้ยงปลาที่ดี เช่น การเตรียมพ่อแม่ปลา การเตรียมบ่อเลี้ยง การเพาะฟักลูกปลา การปล่อยลูกปลาเสริมหรือไม่ปล่อยลูกปลาลงเสริม การสูบน้ำ การฟันหญ้า การให้น้ำปุ๋ย การให้อาหาร และการจับปลาขาย ทุกอย่างต้องทำให้เป็นข้อมูลของแต่ละปีเอาไว้ทำให้เป็นวิถีชีวิต เราจะรู้ความเป็นมา ความเป็นอยู่และความเป็นไปของปลาสลิด เป็นการทำไปเรียนรู้ไป เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเราตลอดจนการจดบันทึก ทุกวันทำให้ได้รู้ความเป็นมา ความเป็นอยู่และความเป็นไป หรือที่เราชอบเรียกกันว่ารู้อดีต รู้ปัจจุบันและก็รู้อนาคต ได้ด้วยตัวเราเองและกำหนดอนาคตเราได้ด้วยตัวเราเอง ถ้าเราไม่ทำข้อมูล เราก็จะไม่มีความจริง ไม่รู้ความจริงของปลาว่าปลาเป็นอย่างไร ก็จะทำให้เราไม่รู้อะไรเลย
การเปรียบเทียบการเลี้ยงแบบไม่รู้อะไรเลยกับการเลี้ยงแบบศึกษาวิจัยและพัฒนาครบวงจร การเลี้ยงปลาสลิดแบบเดิมๆนั้นการปล่อยพ่อแม่พันธุ์มากบ้างน้อยบ้างไม่แน่นอน การเพาะฟักลูกปลาสลิดติดไม่แน่นอน ให้อาหารธรรมชาติอย่างเดียวหรือให้อาหารธรรมชาติ ปุ๋ย รำ ผัก หญ้า ฯลฯ การต้มข้าว+อาหาร ไม่รู้ปริมาณความต้องการ อัตราการรอดไม่แน่นอนไม่รู้ปริมาณปลาในบ่อหรือปลาที่เพาะได้ ทางแก้ที่ทำกันอยู่ คือ เพาะให้มากๆหรือซื้อลูกปลามาปล่อยให้มาก ปัญหาที่ตามมาก็คือปลาไม่โตแตกไซส์ ปลามีหลายรุ่น ขายไม่ได้ราคาเพราะอาหารที่ใช้เลี้ยงไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่มีความสดใหม่ ความคงทนในมามีและลดความสูญเสียไม่ได ทำให้ระยะการเลี้ยงยาวนาน ปลาวางไข่มีหลายรุ่น ศัตรูของปลามีมากขึ้น หรือปลาที่ไม่ต้องการมาแย่งอาหารทำให้เจ้าของบ่อเกิดความลังเลในต้นทุนการเลี้ยงและก็ไม่รู้ว่าจะใช้เงินลงทุนเท่าไร ไม่รู้ผลตอบแทนเท่าไร ทั้งหมดนี้คือการไม่มีที่มาของข้อมูล ไม่มีข้อเท็จจริง ส่งผลให้ขาดทุนและสิ่งแวดล้อมก็เสยหา สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
การเลี้ยงปลาสลิดแบบศึกษาวิจัยพัฒนาครบวงจร รู้อัตราการรอด รู้ผลผลิตเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ปลาโตสม่ำเสมอ ทำให้ปลาไซส์ใหญ่ได้ ควบคุมการเจริญเติบโตได้ อาหารมีคุณภาพและพอเพียง เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ระยะการเลี้ยงสั้นขึ้นได้ผลผลิตไร่ละ 1 ตัน ถึง 2 ตัน ลดปริมาณ ศัตรูของปลาที่เป็นตัวแย่งอาหาร ลดการสูญเสีย รู้ต้นทุนที่จะต้องใช้ก่อนการเลี้ยงปลา ทำให้เกิดการจัดการ การลงทุน การเลี้ยงได้ทำให้เกิดการจัดการความรู้ การเลี้ยงปลาสลิดแบบครบวงจรและนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนแบบพึ่งพาตนเองได้ด้วยความพอเพียง ...... องค์ความรู้ดังกล่าวเจ้าตัวพร้อมถ่ายทอดให้ผู้สนใจทั่วไปหรือแม้แต่การเดินทางไปดูการเลี้ยงปลาอย่างไรให้ได้เงินล้านซึ่งเป็นอาชีพที่น่าสนใจและมีรายได้อย่างงดงามสำหรับผู้ที่พร้อมจะหันเหหรือเปลี่ยนหน้าที่การงานมาเป็นเกษตรกร
0 comments :
Post a Comment