กล้วยหอมทอง โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทอง จ.อุดรธานี แหล่งปลูกคุณภาพ มาตรฐานส่งออก

กล้วยหอมทอง โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทอง จ.อุดรธานี แหล่งปลูกคุณภาพ มาตรฐานส่งออก

 
ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีการปลูกกล้วยหอมเพื่อการค้าในหลายจังหวัด รวมถึงที่จังหวัดอุดรธานี

โดยการปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการค้าของจังหวัดอุดรธานี เกิดขึ้นในปี 2537 โดยมี คุณทองคูณ โพธิ์พรม เกษตรกร บ้านโพธิ์ ต.บ้านโคก อ.สร้างคอม เป็นเกษตรกรผู้เริ่มต้นและจุดประกายการปลูกกล้วยหอมทอง

เริ่มขายจากตลาดท้องถิ่น

เดิมนั้น คุณทองคูณทำงานอยู่ในโรงงานไม้อัดที่จ.นนทบุรี แต่เนื่องด้วยมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด มาประกอบอาชีพการเกษตร และได้นำพันธุ์กล้วยหอมทองจากจ.นนทบุรี มาปลูก



ด้านการตลาด เริ่มต้นด้วยการปลูกเพื่อจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น และนำไปให้เพื่อนที่อยู่บ้านปากสวย ต.ปากสวย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ช่วยจำหน่ายในร้านค้าริมข้างทาง บนถนนสายหนองคาย-โพนพิสัย เนื่องจากมีรถสัญจรมากพอสมควร ต่อมามีการพัฒนาจนกลายเป็นตลาดกล้วยหอมทองแหล่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในปี 2540 คุณทองคูณ ได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอมทองอ.สร้างคอม ขึ้น มีสมาชิกเริ่มต้นทั้งหมด 23 คน และในปี 2549 คุณทองคูณ ได้ขอการรับการรับรองแหล่งผลิต GAP กล้วยหอมทองเป็นรายแรกและรายเดียวของจ.อุดรธานี

ปี 2552 กลุ่มกล้วยหอมทองอ.สร้างคอม ได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองอ.สร้างคอม มีสมาชิกทั้งหมด 36 ราย โดยมี คุณจักรินทร์ โพธิ์พรม เป็นประธาน





สำหรับคุณจักรินทร์นั้น เป็นลูกชายของคุณทองคูณ โดยเมื่อกลับมาจากการทำงานที่ประเทศอิสราเอล ได้นำความรู้ด้านการเกษตรมาปรับใช้ในแปลงกล้วยหอมทอง พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง และได้เข้ามาเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองอ.สร้างคอม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มได้รับการรับรองแหล่งผลิต GAP กล้วยหอมทองเพิ่มขึ้น จำนวน 6 ราย และเริ่มมีการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก
 
ในปี 2557 เพื่อให้การดำเนินงานของกลุ่มมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้งกลุ่มใหม่เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทองต.บ้านโคก อ.สร้างคอม มีสมาชิกทั้งหมด 40 ราย และในเบื้องต้นเกษตรกรที่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามระบบ GAP พืช ได้ขอการรับรองแหล่งผลิต GAP พืชแบบกลุ่ม (กล้วยหอม) จำนวน 17 ราย ประกอบด้วยเกษตรกรอำเภอสร้างคอม 8 ราย อ.พิบูลย์รักษ์ 7 ราย และอ.เพ็ญ 2 ราย โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี ในสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการตรวจประเมินการจัดการระบบควบคุมภายในของกลุ่ม การตรวจแปลงผลิตกล้วยหอมทองตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์สารพิษตกค้าง

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทองต.บ้านโคก ได้รับการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช แบบกลุ่ม (กล้วยหอม) ในเดือนพฤศจิกายน 2558 จำนวน 17 ราย และคาดว่าสมาชิกที่เหลือจะยื่นขอการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช (กล้วยหอม) ต่อไป


ในปี 2559 นี้ จ.อุดรธานี มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองทั้งหมด 123 ไร่ โดยแหล่งปลูกสำคัญของจ.อุดรธานี อยู่ในเขตอ.สร้างคอม พื้นที่ 70 ไร่ ที่เหลืออยู่ในเขตอ.พิบูลย์รักษ์ และอ.เพ็ญ 20 ไร่ อ.กุมภวาปี 23 ไร่ และอ.กุดจับ 10 ไร่
 

ตลาดและการรับซื้อ
ในส่วนของตลาดคุณจักรินทร์บอกว่า ที่นี่เน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีปริมาณผลผลิตประมาณ 10 ตัน/สัปดาห์ การแพ็คกิ้งและการขนส่งตอนนี้จะใช้วิธีนำคอนเทรนเนอร์เข้าไปในพื้นที่แปลงกล้วยที่เก็บเกี่ยว เพื่อสะดวกในการขนส่ง การเก็บเกี่ยวก็จะตัดกล้วยจากแปลงมาแขวนที่จุดแพ็คซึ่งทำโรงแพ็คแบบง่ายๆ จากนั้นตัดเป็นหวี ตรวจเช็คคุณภาพ น้ำหนักกล้วยต่อผลต้องไม่ต่ำกว่า 110 กรัม ถ้า 1 หวี มี 10 ลูก น้ำหนักต่อหวีก็ต้อง 1 กก.1 ขีด เป็นต้น จากนั้นก็จะนำมาล้างทำความสะอาด เป่าให้แห้ง ตรวจเช็คแมลงและสิ่งสกปรกอีกรอบก่อนจะบรรจุลงกล่องโดยรองบับเบิ้ลในกล่องก่อน และมีการติดบาร์โค้ท 1 บาร์โค้ทต่อกล้วย 3 ลูกเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อกล้วยมีปัญหา ในส่วนของราคารับซื้อทางกลุ่มจะประกันราคารับซื้อให้กับสมาชิกที่ 15 บาท/กก. ส่วนกล้วยที่ตกเกรดหรือกล้วยหวีเล็กที่อยู่บริเวณหัวและท้ายหวีก็จะขายตลาดในประเทศและนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

การลงทุนและผลตอบแทน
ในส่วนของต้นทุนการผลิตประเมินไว้ที่ 22,000-25,000 บาทต่อไร่ โดย 1 ไร่ ปลูกกล้วยได้ 350-400 ต้น เท่ากับว่า 1 ไร่ จะได้กล้วย 350-400 เครือ น้ำหนักกล้วยต่อเครือ 10-15 กก. ราคารับซื้อ 15 บาท/กก. หรือถ้าคิดเป็นเครือก็ประมาณเครือละ 180-200 บาท รายได้ต่อไร่ก็จะอยู่ที่ 50,000-60,000 บาท นับเป็นรายได้ที่น่าจูงใจอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่เกษตรกรให้ความสนใจในการขยายพื้นที่ปลูกกันมาก แต่ข้อจำกัดของพื้นที่ภาคอีสานก็คือเรื่องของแหล่งน้ำอย่างที่บอกจึงทำให้การขยายพื้นที่จึงจำกัดอยู่

การดูแลสวนกล้วย
การปลูกกล้วยที่นี่จะใช้ระยะปลูก 2x2 เมตร 1 ไร่ ปลูกได้ 350-400 หน่อ หน่อที่นำมาปลูกต้องเป็นหน่อจากต้นที่มีอายุอายุ 1 ปีขึ้นไปจึงจะเป็นหน่อที่สมบูรณ์ ราคาหน่อกล้วยที่ขาย 8-10 บาท/หน่อ การให้น้ำที่นี่มีทั้งปล่อยไปตามร่องและใช้น้ำหยด โดยลงทุนค่าน้ำหยดไร่ละ 3,000 บาท สามารถควบคุมการให้น้ำได้ ควบคุมความชื้นได้ การให้ปุ๋ยจะให้ครั้งแรกช่วงรองพื้นก่อนปลูกครั้งหนึ่ง เมื่อกล้วยอายุ 1 เดือนเริ่มให้ 15-15-15 อัตรา 100-150 กรัม/ต้น อายุ 3-4 เดือน ให้สูตรเดิม อัตรา 200-300 กรัม/ต้น อายุ 5 เดือน ให้ 20-15-20 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น
เมื่อกล้วยอายุ 4 เดือนจะแต่งหน่อที่แตกออกมารอบต้นออก หลังจากนั้นจะคอยแต่งหน่อทุก 10-15 วันครั้ง ส่วนใบกล้วยคุณจักรินทร์บอกว่าถ้าจะให้ดีควรเก็บใบไว้ให้มากที่สุด ตัดแต่งเฉพาะใบที่เสื่อมสภาพ หมดอายุออก โดยจะไว้ใบต่อต้นประมาณ 10 ใบ ซึ่งถือว่าดีที่สุด

กล้วยอายุ 6 เดือนจะเริ่มออกปลี หลังจากกล้วยแทงสุดปลีแล้วจะตัดปลีออก และหลังตัดปลีไม่เกิน 15 วัน จะหุ้มเครือด้วยถุงพลาสติกสีฟ้า (เอธีลีนโพลีน)แบบเปิดด้านล่าง โดยหุ้มทั้งเครือ และหุ้มทุกเครือ เพื่อให้ผิวกล้วยสวย และป้องกันแมลงทำลาย ส่วนการตัดใบธง ตัดเมื่อใบธงเริ่มหักก่อนที่จะเสียดสีกับผิวกล้วย
 
หลังตัดปลีประมาณ 60-70 วันก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ถ้านับอายุตั้งแต่เริ่มปลูกก็ประมาณ 9-10 เดือนหรือประมาณ 1 ปี การปลูกกล้วยเพื่อส่งออกจะไม่มีการใช้สารเคมีหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุด ประกอบกับที่นี่เป็นพื้นที่ใหม่จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค-แมลง ก็ไม่ค่อยมีการใช้สารเคมีกันอยู่แล้ว
วันนี้กล้วยหอมทองในอีสานกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และได้รับความสนใจอย่างมากจากเกษตรกร เนื่องจากผลตอบแทนสูงกว่าพืชเดิมที่ชาวบ้านปลูกกันมานานจนกลายเป็นวิถีชีวิต
 
ที่มาข้อมูล : คุณจักรินทร์ โพธิ์เพิ่ม 159 ม.2 ต.บ้านโคก อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี โทร. 08 -4952 -2789


Share on Google Plus

About im'saradee

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 comments :

Post a Comment