การเพาะเห็ดฟางสร้างรายได้งาม

การเพาะเห็ดฟางสร้างรายได้งาม


 ในอดีตการทำนาโดยชาวนาจะใช้แรงงานคน และแรงงานจากสัตว์เท่านั้นทุกๆบ้านจะต้องมีคอกวัว หรือคอกควาย ในตอนเช้าจะเอาวัวและควายออกคอกเพื่อไปไถนา หรือเทียมเกวียนบรรทุกของ หรือเป็นพาหนะในการคมนาคม และเอาออกไปกินหญ้า



ตอนเย็นจะเอากลับเข้าคอก และจะสุมไฟให้เพื่อไล่ยุงและแมลงต่างๆที่จะมากัด ผลพลอยได้จากการเลี้ยงสัตว์ ก็จะได้มูลวัวมูลควายมาทำปุ๋ยใส่ในนาข้าว โดยไม่ต้องซื้อหาปุ๋ยเคมี ประหยัดเงินและดินก็อุดมสมบูรณ์  ปัจจุบันการทำนาใช้เครื่องมือเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ ใช้รถแทรกเตอร์ไถนาแทนวัว ควาย ใช้รถเกี่ยวข้าวและนวดเป็นเม็ดข้าวเปลือกเลย ไม่ต้องใช้แรงงานจากคนลงแขกเกี่ยวข้าว ตากข้าว มัดข้าว นวดข้าว และขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง แต่ปัญหาที่เกิดตามมา คือ ข้าวมีความชื้นสูง ราคาตกต่ำโดนหักค่าความชื้น ต้นทุนสูง ที่ดินเป็นกรดเสื่อมโทรม เกิดมลภาวะ ขายข้าวเปลือกให้โรงสี ซื้อข้าวสารมาบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผาฟางข้าว  


ในบรรดาเห็ดเศรษฐกิจที่เพาะกันโดยทั่วไป เห็ดฟางเป็นเห็ดที่เพาะมากที่สุดในประเทศและมีการบริโภคภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เห็ดฟางเป็นเห็ดที่เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี มีอายุการเพาะสั้นประมาณ 10-15 วัน วัสดุที่นำมาเพาะเห็ดฟางมีหลากหลาย เช่น เปลือกถั่วเขียว, ทะลายปาล์มน้ำมัน. มันเส้น, ผักตบชวา, ต้นกล้วยสับแห้ง, ขี้เลื่อย, ฟางข้าวและตอซังข้าว

การเพาะเห็ดฟางมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากเหมือนกับการเพาะเห็ดอื่นๆ ไม่ต้องมีการนึ่งฆ่าเชื้อในวัสดุเพาะ ซึ่งมีองค์ประกอบในการเพาะง่ายๆ ได้แก่
1. วัสดุเพาะหลัก ได้แก่ ฟางข้าว, ตอซังข้าว, เปลือกถั่วเขียว, ขี้เลื่อยเก่าที่เพาะเห็ดถุงมาแล้ว  เป็นต้น
2. หัวเชื้อเห็ดฟาง
3. อาหารเสริม ได้แก่ ต้นกล้วยสับแห้ง, ผักตบชวา, ปุ๋ยคอกเก่าผสมกับดินร่วนในอัตรา 1:10 โดยปริมาตร และรำละเอียด
4. พลาสติกใส
5. แบบพิมพ์ รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาด 40x40x110-120 เซนติเมตร

วิธีการเพาะ
 เตรียมพื้นที่เพาะเห็ด โดยให้พื้นดินมีความชื้นหมาดๆ และแช่ฟางข้าว, ตอซังข้าวหรือวัสดุที่ใช้เพาะทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน รวมทั้งอาหารเสริมให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถจัดเตรียมได้ ส่วนหัวเชื้อเห็ดฟางแต่ละถุง ให้ขยี่หัวเชื้อกระจายออกจากกันและแบ่งเป็น 4 ส่วน เท่าๆ กันเพื่อใส่ลงในแต่ละชั้นของกองฟาง หัวเชื้อ 1 ถุงใช้ได้ 1 กอง จากนั้นให้วางแบบพิมพ์ในพื้นที่เพาะเห็ดความยาวตามตะวัน

ขั้นตอนการเพาะ
 1. นำฟางที่แช่ไว้ขึ้นจากน้ำมาใส่ในแบบพิมพ์ กดด้วยมือให้แน่นสูงจากพื้นประมาณ 10 เซนติเมตร โรยอาหารเสริมลงบนวัสดุเพาะรอบๆ ทั้ง 4 ด้าน จากนั้นใช้หัวเชื้อที่เตรียมไว้โรยรอบทั้ง 4 ด้านเช่นเดียวกัน ก็เสร็จในชั้นที่หนึ่ง
 2. เมื่อทำชั้นแรกเสร็จ ก็นำฟางใส่ลงในแบบพิมพ์สูงจากชั้นแรกอีก 10 เซนติเมตร ใส่อาหารเสริมและหัวเชื้อเหมือนกับชั้นแรก ทำจนครบ 4 ชั้นต่อกอง ก็ถือว่าเสร็จในกองที่ 1
 3. ทำการยกแบบพิมพ์ออกจากกองฟาง และวางแบบพิมพ์ให้ห่างจากกองแรกประมาณ 15 เซนติเมตร และให้ดำเนินเพาะเหมือนกองแรก โดยปกติกองเพาะเห็ดฟาง 10 กอง เรียกว่า 1 แปลง
 4. เมื่อเพาะเห็ดฟางได้ 5-10 กองแล้วก็จะนำพลาสติกใสมาคลุมกองฟาง เพื่อป้องกันความชื้นและเพิ่มอุณหภูมิภายในกองให้สูงขึ้น โดยให้ชายพลาสติกคลุมเหลื่อมกันบนสันกองและให้ชายโดยรอบห่างจากขอบข้างด้านละ 15-20 เซนติเมตร และทำการพลางแสงโดยรอบกองฟางด้วยฟางข้าวอีกครั้งหนึ่ง ในหน้าร้อนทิ้งไว้ 8-10 วัน ในหน้าหนาวทิ้งไว้ 15-20 วัน เห็ดฟางก็จะออกดอกและเก็บผลผลิตได้
 5. การเก็บผลผลิตดอกเห็ด ให้เลือกเก็บดอกเห็ดที่ตูมเต็มที่ จะได้คุณภาพดีที่สุด การเพาะเห็ดฟางในหนึ่งรุ่นจะเก็บผลผลิตได้ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน ก็จะเก็บเกี่ยวได้หมด โดยเฉลี่ยผลผลิตต่อกองได้ประมาณ 1.5-2 กิโลกรัม ให้บรรจุดอกเห็ดในภาชนะที่โปร่ง เช่น ตะกร้าหรือเข่ง ไม่ควรบรรจุเห็ดในถุงพลาสติก เพราะจะทำให้ดอกเห็ดบานเร็วขึ้น


ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  อ. ปรีชา รัตนัง สาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร     มหาวิทยาลัยแม่โจ้     จ. เชียงใหม่  50290   โทร.   053-873380      ในวันและเวลาราชการ

ที่มาข้อมูล : องค์ความรู้การเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ www.mju.ac.th

รายงานโดย : อาจารย์ พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ  และสมศักดิ์ ศิริ นักวิชาการเกษตร งานถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทร. 053-873938-9

Share on Google Plus

About im'saradee

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.
    Blogger Comment
    Facebook Comment

1 comments :

  1. ถ้าให้เห็ดมีนำ้หนักดี ต้องรดด้วยน้ำหมักขี้ค้างคาว สนใจติดต่อได้ค่ะ โทร 0818371456 Line : kaemikha

    ReplyDelete