ไผ่สายพันธุ์ใหม่ แก้จน “ไผ่รวกหวาน ภูกระดึง 58” ปลูกง่ายได้ทุกพื้นที่ หน่อดก รสหวาน อร่อย
ไผ่รวกหวานภูกระดึง - รสหวาน กินดิบได้เลย นิยมทำเป็นส้มตำไผ่รวกหวาน หรือยำสดๆ อร่อย
ที่อำเภอภูกระดึง จ.เลย นั้นมีการส่งเสริมในการปลูกไผ่เลี้ยงกันมาก เป็นสินค้าออกที่สำคัญของอำเภอภูกระดึง ปีหนึ่งๆทำรายได้นับ 10 ล้านบาท การปลูกไผ่เลี้ยงเราสามารถบังคับให้ออกนอกฤดูได้ และจะได้ราคาดีออกนอกฤดู ก.ก.ละ 40-50 บาท ซึ่งบางรายเป็นถึงทนายความก็หันมาปลูกไผ่เลี้ยงครั้งแรกเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันปรับเปลี่ยนไป อาชีพทนายกลับเป็นอาชีพเสริมไปแล้ว
ต้นไผ่มีหลากหลายชนิด และมีอยู่ทั่วไป แต่ที่อำเภอภูกระดึง อ ผาขาว อ.หนองหิน ตามภูเขาโดยทั่วไปเราจะเห็นต้นไผ่อยู่ชนิดหนึ่งเรียกกันว่าไผ่รวก เกิดขึ้นมากมายกระจายอยู่ทั่วไปทั้งพื้นที่ราบและบนเขา หน้าฝนไผ่รวกก็จะออกหน่อเหมือนต้นไผ่ทั่วไป ชาวบ้านก็เก็บเอาหน่ออ่อนมาต้มให้สุก แล้วบรรจุลงในปิ๊บขาย จะมีพ่อค้ามารับซื้อ บางรายก็จะเอาใส่ถุงพลาสติกห้อยขายตามริมถนนในหน้าแล้ง ก่อนจะรับประทานก็ต้องต้มให้จืดเสียก่อนเพราะรสขม
คุณสุรูป แสนขันธ์ คือเกษตรกรผู้ริเริ่มขยายพันธุ์ไผ่รวกหวาน “ภูกระดึง 58” ณ บ้านเลขที่ 243 หมู่ที่ 5 บ้านซำบ่าง ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
ชื่อไผ่รวกหวาน “ภูกระดึง 58” นี้ มีที่มาจาก เป็นไผ่รวกที่พบบนพื้นที่ยอดดอยภูกระดึง และ 58 คือ ปีที่คุณสุรูปเริ่มขยายพันธุ์จนสำเร็จ จนได้มีการจำหน่ายต้นพันธุ์ ทำให้ไผ่รวกหวานสายพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักนั่นเอง
แต่เดิมนั้น คุณสุรูป รับราชการครู สอนในรายวิชาการงานอาชีพ ซึ่งถือว่ามีความรู้ทางด้านเกษตรอยู่แล้ว ซึ่งในพื้นที่บ้านก็ได้มีการปลูกมะนาวไว้ และเป็นผู้รู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกมะนาวด้วย จนเมื่ออายุได้ 50 ปี ได้หันมาปลูกไผ่รวกหวานเป็นอาชีพเสริมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอาชีพ
คุณสุรูป เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการปลูกไผ่รวกหวานว่า “ได้ไปกินไผ่รวกจากคุณยายท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นญาติพี่น้องที่รู้จักกัน คุณยายท่านนี้ปลูกไผ่รวกชนิดนี้ไว้ในบ้าน 1 กอ โดยไปเอามาจากบนป่าภูกระดึง ตนเกิดความประทับใจในรสชาติที่หวาน กรอบ ของไผ่ชนิดนี้ ที่มีรสหวานกว่าหน่อไผ่สายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยได้กินมา จึงได้ขอซื้อไผ่กอนั้นทั้งกอมาปลูกไว้ที่บ้าน ด้วยการเพาะชำลำไผ่ แต่ปลูกได้ประมาณ 1 ปี ไผ่ก็ออกดอก และตายไปในที่สุด ด้วยความรู้ที่มีอยู่บ้างเกี่ยวกับด้านเกษตร จึงได้นำเมล็ดของไผ่รวกมาเพาะเพื่อขยายพันธุ์ จนได้เป็นไผ่รวกพันธุ์ใหม่ และให้ชื่อว่า ไผ่รวกหวาน ภูกระดึง 58”
คุณสุรูป ให้รายละเอียดว่า ไผ่รวก ที่ได้นำมาขยายพันธุ์นั้นเป็นไผ่รวกชนิดใหม่ ไม่เคยพบและไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อสายพันธุ์ไผ่อีกด้วย เพราะไผ่รวกส่วนใหญ่ที่รู้จักเป็นไผ่รวกที่มีรสขมเท่านั้น
หลังจากที่ได้เพาะเมล็ดพันธุ์ไผ่แล้ว คุณสุรูปได้นำกล้าพันธุ์ที่ได้ไปปลูกในแปลงบนพื้นที่ 45 ไร่ ซึ่งปัญหาแรกที่พบคือการกลายพันธุ์ของไผ่ พบว่า กล้าพันธุ์จากการเพาะเมล็ดพันธุ์ไผ่รวก 100 เมล็ด จะพบเมล็ดที่เป็นไผ่ขมอยู่ 10 เมล็ด เมื่อหน่อแรกเริ่มออก จึงคัดพันธุ์จากการชิมหน่อสดที่แทงออกมา หากพบว่าหน่อมีรสขม ก็จะขุดออกและนำไปปลูกไว้ในพื้นที่อื่น แต่ถึงแม้ว่าจะมีรสขม แต่ก็สามารถนำไปประกอบอาหารกินได้เช่นกันกับไผ่รวกหวาน ซึ่งจะมีความขมน้อยกว่าไผ่ป่าเล็กน้อย ส่วนไผ่รวกที่มีรสหวานก็จะปลูกและจำหน่ายต่อไป
จุดเด่น ของ ไผ่รวกหวานภูกระดึง 58
ปลูกง่าย ดูแลง่าย สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ ทุกสภาพอากาศ ทนแล้งได้ดี
เป็นไผ่ชนิดที่ตาหน่อดก ออกหน่อเมื่อได้รับน้ำ สามารถตัดหน่อขายได้เกือบทั้งปี เหมาะสำหรับจำหน่ายเป็นหน่อไม้นอกฤดูกาล
หน่อมีรสชาติหวาน อร่อย กินสดได้ มีความกรอบ รสชาติคล้ายคลึงกับยอดมะพร้าว
เป็นไผ่เปลือกบาง ลำตัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้ เช่น เป็นไม้ค้ำยัน หรือสามารถนำมาทำเป็นค้างสำหรับไม้เลื้อยได้ ไม่มีคาย เวลาจับจะไม่คัน
หลังจากที่คุณสุรูปได้ปลูกไผ่รวกหวาน และได้มีการขยายพันธุ์รวมถึงจำหน่ายต้นพันธุ์ เมื่อ ปี 2558 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ทำให้มีผู้สนใจโทร.มาสอบถามติดต่อขอซื้อต้นพันธุ์ไปปลูกต่อ ซึ่งผลตอบรับเป็นไปในทางที่ดีมาก ลูกค้ามีความพอใจในตัวของไผ่รวกหวาน และคุณสุรูปก็ได้ให้รายละเอียด ข้อมูลในการปลูกไผ่รวกหวานอย่างเต็มที่
วิธีการปลูก
ไผ่รวกหวานภูกระดึง 58 สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทุกสภาพดิน และทุกสภาพอากาศ เป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง ทนแล้งได้ดีมาก ให้หน่อได้ตลอดทั้งปีเมื่อได้รับน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งปุ๋ยที่ไผ่รวกหวานชอบนั้น คุณสุรูปแนะนำว่าควรเป็นปุ๋ยขี้ไก่ แต่ปุ๋ยคอกชนิดอื่นก็ใช้ได้เช่นกัน
เมื่อได้กล้าพันธุ์มาแล้ว ก็เตรียมพื้นที่ในการปลูกไผ่รวกหวาน ต้องไม่ใช่พื้นที่ชุ่มน้ำ แฉะน้ำ ขุดหลุมปลูกในระยะห่าง 2.5×2.5 เมตร เป็นระยะที่ได้ทดลองแล้วว่าเป็นระยะที่เหมาะสม ห่างเกินไปจะทำให้ความชุ่มชื้นน้อย แต่หากชิดเกินไปจะทำให้ลำมีขนาดเล็ก ผ่านไป 1 เดือน จะเริ่มมีหน่อแรกให้เห็น สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 6-8 เดือน แต่ยังเป็นหน่อที่ไม่โตเต็มที่ หน่อที่โตเต็มที่จะเริ่มเก็บได้เมื่อกอมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งหน่อที่โตเต็มที่ 2 หน่อ จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 1 กิโลกรัมครึ่ง เมื่อหน่อเริ่มออกมากต้องมีการบริหารจัดการกอไม่ให้เบียดกันเกินไป ด้วยการหักหน่อนำไปกินหรือจำหน่าย ทิ้งลำไว้ประมาณ 6-8 ลำ ต่อกอ
วิธีการใส่ปุ๋ย มี 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 ปลูกก่อน บำรุงหลัง คือไม่ต้องใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม ให้ปุ๋ยเป็นระยะหลังจากลงแปลงปลูกแล้ว
วิธีที่ 2 ปุ๋ยรองก้นหลุม คือการใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมปลูกเพียงเล็กน้อย จากนั้นจะให้เป็นระยะในปริมาณที่เหมาะสม
เมื่อสังเกตและพบว่า ไผ่สามารถเจริญเติบโตได้แล้ว ต้องดูแลโคนต้น สิ่งที่สำคัญคือไม่เปลือยโคนต้น ต้องหาวัสดุมาคลุมโคนต้น โดยวัสดุที่คุณสุรูปนิยมนำมาใช้คือ ฟาง เปลือกข้าวโพด แกนข้าวโพด ซึ่งคุณสุรูปยังบอกด้วยว่า วัสดุคลุมดินสามารถนำใบไม้หรือเศษวัสดุอื่นได้ เช่น มีเกษตรกรบางรายปลูกไผ่รวกหวานแซมในสวนมะละกอ ก็สามารถนำใบมะละกอมาคลุมดินโคนต้นได้เช่นกัน
การรดน้ำ จะให้ก็ต่อเมื่อแล้งมาก เนื่องจากเป็นไผ่ที่ไม่ชอบน้ำมาก ดูตามความชุ่มชื้นของดิน
การจำหน่าย
สำหรับหน่อไผ่รวกหวาน ราคานอกฤดู ขายที่กิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนในฤดูนั้นคุณสุรูปจะไม่ขายหน่อ แต่จะปล่อยให้เป็นลำ เพื่อนำมาจำหน่ายเป็นต้นพันธุ์ และนำไปใช้ประโยชน์ในสวนของตนเองเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทำเป็นค้างถั่ว เป็นไม้ค้ำยันหรือไม้หลักให้กับมะนาว เป็นต้น
เมนูอาหารที่สามารถนำไผ่รวกหวานไปประกอบเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น ส้มตำ หรือกินสดเป็นเครื่องเคียงของน้ำพริกได้ สามารถนำไปผัดกุ้งน้ำมันหอยเช่นเดียวกับเมนูหน่อไม้ฝรั่ง โดยที่ไม่ต้องนึ่งหรือลวกก่อน เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบกินหน่อไม้ เพราะมีความสะดวกและรวดเร็วในการนำไปประกอบอาหาร
สภาพพื้นที่ในการปลูก ไผ่รวกนี้จะเกิดตามพื้นที่ลาดเนินเขาหรือที่ราบไม่มีน้ำขัง เราสามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง ที่ปลูกอีกแปลงพื้นที่เป็นหินปนดินทีชาวบ้านเรียกว่า (หินแฮ่) เมื่อเราปลูกแล้วก็เอาซังข้าวโพดหรือฟางข้าข้าวมาคลุมโคนต้น เพื่อให้ดินชุ่ม จากที่ได้ทดลองจะออกหน่อเร็ว ในหนึ่งปีจะให้ผลผลิตประมาณ 30-40 หน่อต่อต้น ราคาขาย 2-3 หน่อต่อ 1 กก. ราคาขายถึงเป็นฤดูกาลช่วงหน้าฝนราคา ก.ก.ละ 40 บาท นอกฤดูกาล 60 บาท ผู้ที่สนใจอย่างทราบรายละเอียดติดต่อได้ที่ โทร- 08-9274-6009
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ ,ข่าวสด
0 comments :
Post a Comment